การโอนลอยคืออะไร การโอนลอยหมายถึง การที่เจ้าของรถยนต์ได้ตกลงขายรถยนต์ของตนให้ผู้ซื้อ โดยมีการลงนามในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายเรียบร้อยแล้วเช่น สัญญาซื้อขาย เอกสารการโอน หนังสือมอบอำนาจ ฯลฯ แต่ผู้ซื้อยังไม่ได้ทำการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่ซื้อนั้นเป็นชื่อของตนเอง ยังคงเป็นชื่อเจ้าของเดิมหรือเป็นชื่อผู้ขายอยู่นั่นเอง
โดยผู้ซื้อซึ่งอาจจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือเต็นท์รถยนต์ มีจุดประสงค์หลักเพื่อรถยนต์คันนั้นไปขายต่อและรอให้ผู้ซื้อรถคันดังกล่าว ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์เป็นของตัวเองอีกทอด ซึ่งการโอนลอยเช่นนี้ ผู้ซื้อคนแรกก็จะไม่ต้องรับผิดชอบในการเสียค่าโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ผู้ซื้อคนสุดท้าย จะเป็นผู้รับผิดชอบแทน
การโอนลอย มีด้วยกันหลายกรณี เช่น
1. การขายรถให้เต็นท์รถหรือพ่อค้ารถ จะเป็นการโอนลอยให้พ่อค้ารถหรือเต็นท์รถ ส่วนเต็นท์ก็รอให้ผู้ซื้อรถคันดังกล่าวไปดำเนินการโอนรถยนต์อีกต่อหนึ่ง
2. การจำนำรถยนต์แบบจำนำจอด ผู้จำนำจะเซ็นเอกสารโอนลอยให้ทางศูนย์รับจำนำเช่นกัน หากไม่ไปไถ่คืนหรือไม่จ่ายดอกเบี้ย ทางศูนย์รับจำนำ ก็จะยึดรถไปขายต่อ ผู้ซื้อก็สามารถนำเอกสารที่เซ็นโอนลอยไว้ ไปโอนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อตัวเองได้เลย
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการโอนลอย
หากขายรถยนต์ให้เต็นท์หรือพ่อค้ารถให้เก็บหลักฐานการขายไว้ให้ครบ เพราะหากรถถูกนำไปใช้ผิดกฎหมาย คนซื้อต้องรับผิดชอบ เนื่องจากยังคงมีชื่อเป็นเจ้าของรถ จนกว่ารถคันนั้น ทางเต็นท์หรือพ่อค้าจะสามารถขายได้ และผู้ซื้อได้โอนกรรมสิทธิ์เป็นของตนเองเรียบร้อยแล้ว
ส่วนผู้ที่จะซื้อรถที่โอนลอย ควรระวังดังต่อไปนี้
1. ต้องตรวจสอบเอกสารสำคัญเกี่ยวกับรถให้ละเอียดรอบคอบ เช่น วันหมดอายุบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขายหรือเจ้าของรถตัวจริง หากหมดอายุแล้วจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ไม่ได้
2. ตรวจสอบผู้ครอบครองรถ กับบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านต้องตรงกัน
3. ตรวจสอบประวัติ รถมีการนำไปใช้ในทางผิดกฎหมายหรือไม่ ดูจะค่อนข้างยาก
4. เอกสารในการโอนต้องครบ ดูลายเซ็นต้องเหมือนกัน
5. ผู้ซื้อรถต้องรีบดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ภายในเวลา 15 วัน นับแต่ได้ทำสัญญาซื้อขายรถ ไม่เช่นนั้นจะเสียค่าปรับ
6. ผู้ซื้อต้องเก็บสัญญาการซื้อรถไว้ให้ดี เพราะผู้ขายอาจจะแจ้งหายก็ได้ ก็จะกลายเป็นรับซื้อของโจร
ก่อนจะตัดสินใจซื้อรถมือสองคันใด ก็อย่าลืมตรวจสอบว่าเป็นรถโอนลอยหรือไม่ เพื่อเตรียมตัวรับมือป้องกันปัญหาที่อาจตามมาได้ต่อไป