เบรก ถือเป็นอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ และต้องใช้งานได้เสมอ ไม่เพียงแต่ได้เท่านั้น ยังต้องใช้งานได้ดีอีกด้วย เพราะหากเบรกทำงานไม่ดี หรือขัดข้อง นั่นอาจหมายถึงอันตรายถึงชีวิตได้
การที่เบรกผิดปกติ มีด้วยกันหลายอาการ เช่น เบรกตื้อ เบรกต่ำ เบรกติด เบรกแตก เบรกหมด เบรกสั่น เบรกมีเสียงดัง เบรกเฟดหรือลื่น เป็นต้น แม้ว่าจะเป็นอาการใดก็ตาม ไม่ควรปล่อยไว้ และควรซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ปกติในทันทีก่อนนำรถไปใช้
การดูแลระบบเบรก สามารถทำได้ดังนี้
1. การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรก
– น้ำมันเบรกควรได้รับการเปลี่ยนถ่ายปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะน้ำมันเบรกมีส่วนประกอบมาจากน้ำมันแร่ จึงมีการรวมตัวกับไอน้ำได้ง่าย ทำให้ระบบเบรกเกิดสนิม ความร้อนที่สูงเกินไปทำให้เกิดฟองอากาศในท่อน้ำมัน ฝุ่นผงที่สึกหรอของลูกยางเบรกจะเสียดสี กับแม่ปั๊มเบรก ทำให้กระบอกเบรกเสียหายเร็วขึ้น
– น้ำมันเบรกต้องเลือกใช้ให้ตรงกับมารตราฐานที่ผู้ผลิตกำหนด ไม่สามารถนำน้ำมันเบรกอื่นมาผสม หรือนำน้ำมันอื่นๆเติมแทน เพราะจะทำให้ลูกยางเบรกบวมได้
– หากสังเกตว่าการเหยียบเบรกจะต่ำลง และการดึงเบรกมือที่สูงขึ้น ระดับน้ำมันเบรกลดต่ำลง ควรต้องทำการถอดจานเบรกมาทำความสะอาด เป่าฝุ่นทิ้ง และตั้งระยะผ้าเบรกให้ชิดขึ้น
2. การตรวจสอบผ้าเบรก
– ผ้าเบรกเป็นส่วนที่สึกหรอเร็วกว่าส่วนอื่น จึง ควรถอดเช็คเป็นประจำ สังเกตเปรียบเทียบกับผ้าเบรกของใหม่แกะกล่อง จะมีความหนาเป็น 100 % ผ้าเบรกที่ใช้แล้วความหนาจะลดลงเรื่อยๆ ในจุดที่ต่ำกว่า 40 – 30 % นั้นถือว่าไม่ปลอดภัย
– หากพบว่าจานเบรกมีอาการบวม บิดคดเสียรูป ปลอกหุ้มภายนอกฉีกขาด หรือมีการเสียดสี ควรรีบเปลี่ยนทันที เพราะอาจจะเกิดการแตกได้ง่ายๆ
– การล้างและเปลี่ยนชุดซ่อมเบรก เบรกที่ได้รับการใช้งานอยู่เป็นประจำ ควรได้รับการเปลี่ยนชุดซ่อม จำพวกลูกยางแม่ปั๊มเบรก ลูกยางลูกสูบเบรก และยางกันฝุ่น อย่างน้อย 2 – 4 ปีครั้ง หรือถ้ามีมีการลุยน้ำ ต้องรีบตรวจเช็คทันที
เบรก เปรียบเสมือนตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการขับรถยนต์ ดังนั้น ไม่ควรละเลย และประมาท ควรหมั่นตรวจสอบเบรกให้อยู่ในสภาพดีเสมอ ที่สำคัญ ควรขับรถอย่างปลอดภัย ไม่ขับเร็วจนเกินไป ก็จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยได้มาก